เมนู

"ผู้มีปรีชาเห็นประจักษ์ ย่อมตั้งตนได้ด้วย
ทุนทรัพย์แม้น้อย เหมือนคนก่อไฟกองน้อยให้ลุก
เป็นกองใหญ่ได้ฉะนั้น."

แล้วตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นที่พึ่งพำนักของจูฬปันถกนี้เฉพาะ
แต่ในบัดนี้หามิได้. ถึงในกาลก่อน ก็ได้เป็นที่พึ่งพำนักแล้วเหมือนกัน ;
แต่ว่า ในกาลก่อน เราได้ทำจูฬปันถกนี้ให้เป็นเจ้าของโลกิยทรัพย์, บัดนี้
ทำให้เป็นเจ้าของโลกุตรทรัพย์" ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า จูฬกัน-
เตวาสิก แม้ในครั้งนั้น ได้เป็นจูฬปันถก (ในบัดนี้ ), ส่วนจูฬกเศรษฐี
ผู้ฉลาดเฉียบแหลม เข้าใจพยากรณ์ นักษัตร ( ในครั้งนั้น ) คือเรา
นั่นเอง."

พวกภิกษุชมพระจูฬปันถก


อีกวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในธรรมสภาว่า "ผู้มีอายุ
พระจูฬปันถก แม้ไม่สามารถจะเรียนคาถา 4 บท โดย 4 เดือนได้
ก็ไม่สละความเพียร ตั้งอยู่ในอรหัตแล้ว, บัดนี้ได้เป็นเจ้าของทรัพย์
คือโลกุตรธรรมแล้ว."

พระศาสดาสอนให้ทำที่พึ่งด้วยธรรม 4 ประการ


พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอ
นั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า " ด้วย
เรื่องชื่อนี้ ( พระเจ้าข้า)," จึงตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนา

ของเรา ปรารภความเพียรแล้ว ย่อมเป็นเจ้าของแห่งโลกุตรธรรมได้เที่ยว"
ดังนี้แล้ว ตรัสคาถานี้ว่า
3. อุฏฺฐาเนนปฺปมาเทน สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กยิราถ เมธาวี ยํ โอโฆ นาภิกีรติ.
" ผู้มีปัญญา พึงทำเกาะ (ที่พึ่ง) ที่ห้วงน้ำ
ท่วมทับไม่ได้ ด้วยความหมั่น ด้วยความไม่
ประมาท ด้วยความระวัง และด้วยความฝึก. "


แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ทีปํ กยิราถ ความว่า ผู้มีปัญญา
ประกอบพร้อมแล้วด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม พึงทำ คือพึงกระทำ
ได้แก่อาจทำ เกาะ คืออรหัตผล อันเป็นที่พึ่งพำนักของตนในสาครคือ
สงสารอันลึกยิ่ง โดยความเป็นที่พึ่งอันได้ยากยิ่งนี้ ด้วยธรรมอันเป็นเหตุ
4 ประการเหล่านี้ คือ; ด้วยความหมั่น กล่าวคือ ความเพียร 1 ด้วย
ความไม่ประมาท กล่าวคือการไม่อยู่ปราศจากสติ 1 ด้วยความระวัง กล่าว
คือปาริสุทธิศีลสี่ 1 ด้วยความฝึกอินทรีย์ 1.
ถามว่า "พึงทำเกาะเช่นไร ?"
แก้ว่า "พึงทำเกาะที่ห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้." อธิบายว่า พึงทำ
เกาะที่ห้วงน้ำ คือ กิเลสทั้ง 4 อย่าง ไม่สามารถจะท่วมพัดคือกำจัดได้;
แท้จริง พระอรหัต อันโอฆะไม่สามารถจะท่วมทับได้เลย.